วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นวัตกรรมการศึกษา

บทคัดย่อวิทยานิพนธ์ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ของผู้เรียนวิชานาฏศิลป์ไทยในสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการสอนนาฏยสรรค์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ของผู้เรียนวิชานาฏศิลป์ไทยในสถาบันอุดมศึกษาและแบบวัดทางนาฏยสรรค์ เปรียบเทียบพัฒนาการของนักศึกษาในด้านความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ และทักษะในการปฏิบัติผลงานสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ไทยระหว่างนักศึกษากลุ่มที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์ที่พัฒนาขึ้นกับกลุ่มที่ใช้รูปแบบการเรียนการสอนปกติ ผลการวิจัย พบว่า วิธีการสอนนาฏยสรรค์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ ได้แก่ การสอนท่ารำต้นแบบ การคิดสร้างสรรค์ท่ารำอย่างอิสระ การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ บรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ และการประเมินผลย้อนกลับ ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน 6 ขั้นตอนคือ การนำเข้าสู่เนื้อหา การฝึกปฏิบัติ ฝึกการสังเกตและการวิเคราะห์ การฝึกคิดประดิษฐ์ท่ารำอย่างอิสระ การนำเสนอผลงานเชิงสร้างสรรค์ การสรุปและประเมินผล แบบวัดนาฏยสรรค์ที่พัฒนาขึ้น เป็นแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ท่ารำจากกระบวนการเชื่อมโยงสัมพันธ์ลีลาท่ารำ การปรับปรุงท่ารำเดิม การจินตภาพและจินตนาการ ด้านการบันทึกท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นในแบบทดสอบตามเวลาที่กำหนด ลักษณะเด่นของแบบวัดนาฏยสรรค์ คือการวัดระดับความสามารถของผู้เรียนระดับอุดมศึกษาในการสร้างสรรค์ท่ารำ หาค่าบรรทัดฐานจากการทดสอบกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาสาขานาฏศิลป์ไทยชั้นปีที่ 1-4 ทั่วประเทศ จำนวน 800 คน สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์เป็นวิธีการสอนที่เน้นการบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฏิบัติจริง เพิ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเกต และฝึกการคิดสร้างสรรค์ท่ารำ ด้านบรรยากาศการเรียนการสอน กระตุ้นให้นักศึกษามีความกระตือรือร้น สร้างความเชื่อมั่นในตนเองด้วยการให้นักศึกษาคิดสร้างสรรค์ท่ารำและแสดงออกอย่างอิสระ การนำรูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์ไปใช้ สรุปผลการทดลองเป็นตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ดังนี้ 1. หลังการทดลองนักศึกษากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์สูงกว่านักศึกษากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2. หลังการทดลองนักศึกษากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยทักษะการปฏิบัติผลงานสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ไทยสูงกว่านักศึกษากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. นักศึกษากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความคิดสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์และทักษะการปฏิบัติผลงานสร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ไทยหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

อุษา สบฤกษ์. (2545). การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนาฏยสรรค์ที่ส่งเสริมความคิด
สร้างสรรค์ทางนาฏศิลป์ของผู้เรียนวิชานาฏศิลป์ไทยในสถาบันอุดมศึกษา. กรุงเทพมหานคร :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น